ประวัติ ของ วัดคูหาสวรรค์ (จังหวัดพัทลุง)

วัดคูหาสวรรค์มีถ้ำคูหาสวรรค์ตั้งอยู่ในวัด ชาวบ้านนิยมเรียกวัดนี้ว่า วัดคูหาสูง หรือ วัดสูง ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างเมื่อใด แต่ตำนานนางเลือดขาวระบุว่า มือตาสามโมกับยายเพชรถึงแก่กรรมแล้ว กุมารกับนางเลือดขาวให้นำอัฐิของท่านทั้งสองไปเก็บไว้ในถ้ำคูหาสวรรค์ ขณะที่ข้อมูลในหนังสือทำเนียบวัดจังหวัดพัทลุงของพระครูอริยสังวร (เอียด) ระบุว่าสร้างเมื่อ พ.ศ. 1924 ยังปรากฏความในหนังสือพระกัลปนาวัดเมืองพัทลุงสมัยอยุธยา ความว่า วัดคูหาสวรรค์ก็น่าจะถูกทำลายไปในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แล้วจึงได้รับการบูรณะใหม่

เมื่อ พ.ศ. 2432 วัดได้รับการบูรณะครั้งใหญ่เพื่อเตรียมรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวครั้งเสด็จประพาสแหลมมลายู ปรากฏจารึกพระปรมาภิไธย จ.ป.ร. 108 ไว้บริเวณหน้าถ้ำ วัดคูหาสวรรค์ได้กลายเป็นวัดร้าง จน พ.ศ. 2452 ชาวบ้านได้นิมนต์พระครูจรูญกรณีย์ (ตุค เกสโร) มาเป็นเจ้าอาวาสครองวัด ท่านได้บูรณะเป็นการใหญ่ วัดจึงได้รับการพัฒนา จนถึง พ.ศ. 2467 เมืองพัทลุงย้ายจกตำบลลำปำมาตั้งที่ตำบลคูหาสวรรค์ พระยาคณาศัยสุนทร (สา สุวรรณสาร) ผู้ว่าราชการเมืองสมัยนั้น ได้ช่วยบูรณะวัดอีกแรงหนึ่ง วัดคูหาสวรรค์เป็นวัดที่พระมหากษัตริย์และเชื้อพระวงศ์โปรดในการเสด็จอยู่เสมอ เช่น เมื่อ พ.ศ. 2502 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จประพาสถ้ำคูหาสวรรค์ได้ทรงจารึกพระปรมาภิไธย ภปร.และ สก. ไว้ที่เพิงผาหน้าถ้ำ[1]